จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สำนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ จัดพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “การจัดการการเปลี่ยนแปลง (CU Change Management)” สำหรับผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสายปฏิบัติการ: CUGM2566 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก คุณสุภาพร จันทร์จำเริญ รองอธิการบดี ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ดำรงค์ วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) เป็นผู้กล่าวรายงานสรุปผลการอบรม ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชสิรี ชมภูคำ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการฯ และ ดร.พรมณี ขำเลิศ ผู้จัดการหลักสูตรการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการฯ ให้เกียรติร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้เข้ารับการอบรม จำนวนทั้งสิ้น 49 คน ในโอกาสนี้ คุณสุภาพร จันทร์จำเริญ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชสิรี ชมภูคำ รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ และ ดร.พรมณี ขำเลิศ ร่วมเป็นกรรมการและมอบรางวัลให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมที่นำเสนอผลงาน Showcasing Group Achievements สำหรับหลักสูตรการอบรมในครั้งนี้ด้วย
ในการนี้ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “การจัดการการเปลี่ยนแปลง (CU Change Management)” ได้นำเสนอผลงาน Showcasing Group Achievements ผ่านการทำงานเป็นทีมของผู้บริหารแต่ละกลุ่ม ซึ่งต่อยอดจากเนื้อหาของหลักสูตรฯ ที่ คุณทัสพร จันทรี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล TAS Consulting Partner ได้บรรยายถ่ายทอดความรู้ไว้เมื่อวันอังคารที่ 26 และวันพุธที่ 27 กันยายน 2566 โดยประกอบด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ จำนวน 7 หัวข้อ จากความทุ่มเทร่วมกันของผู้บริหาร จำนวน 7 กลุ่ม ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งหวังในการพัฒนาและนำพามหาวิทยาลัยสู่ความก้าวหน้าและมีความพร้อมในการเป็นมหาวิทยาลัยที่จะสรรค์สร้างบุคลากรที่มีความพร้อมในการผลิตบัณฑิต ผลงานบริการวิชาการ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาสังคมไทยและสังคมโลกอย่างยั่งยืน โดยผลงานของกลุ่มที่ 5 หัวข้อ “CU Net Zero (Life Style Transition)” ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง (100%) ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานที่ตอบสนองต่อความมุ่งหวังและเจตนารมย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Chula's Pledge to Be Net Zero ในการเป็นมหาวิทยาลัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ และ ดร.พรมณี ขำเลิศ ยังให้เกียรติบรรยายถ่ายทอดความรู้เรื่อง “Communication for Change” และ “Sustainable Change Management” ผ่านกิจกรรม Roleplay และ Workshop โดยหัวข้อ “Communication for Change” มีความมุ่งหวังให้ผู้บริหารสายปฏิบัติการทุกท่าน เข้าใจถึงศิลปะในการสื่อสารอย่างลึกซึ้งผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์และปฏิสัมพันธ์ต่อคู่สนทนาในสถานะอัตตาพื้นฐาน PAC (P=Parent, A=Adult, C=Child) ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีอัตตาในตนเองที่แตกต่างกัน ซึ่งการที่จะสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเป็นการสื่อสารที่สร้างปฏิสัมพันธ์เชิงเสริมสร้าง ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมและสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของมนุษย์ รวมถึง การเรียนรู้ถึงวิธีการจัดการปฏิสัมพันธ์ในเชิงขัดแย้ง เพื่อให้สามารถสื่อสารและดำเนินงานร่วมกันได้อย่างประสบความสำเร็จ ผ่าน 7 คำวิเศษ “หยิบมาใช้เมื่อไหร่ คนทำตามเมื่อนั้น” ที่นำเสนอโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ ซึ่ง 7 คำวิเศษดังกล่าว ประกอบด้วย
Key Takeaways
•(1) “คำตอบรับ”
•(2) “แต่”
•(3) “เพราะ”
•(4) “ชื่อคนของเรา”
•(5) “ถ้า”
•(6) “ช่วย”
และ •(7) “ขอบคุณ” โดยทุกคำเป็นการใช้คำโดยนำพาความรู้สึกเชิงบวก เพื่อการสร้างแรงจูงใจในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมและสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ยั่งยืน ปราศจากอคติในการดำเนินงานและการพัฒนาองค์การร่วมกันต่อไป
และสำหรับหัวข้อ “Sustainable Change Management” เป็นการเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่แสดงถึงพฤติกรรมในการทำงานร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งในการที่จะสามารถดำเนินงานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทุกคนต้องเข้าใจถึงหลักความสมดุลและการทำงานร่วมกันอย่างเป็น TEAM ผ่านการดำเนินกิจกรรมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดำรงค์ วัฒนา ซึ่งประเด็นสำคัญหลักของกิจกรรมนี้ Key Takeaways คือ การสร้างความยั่งยืนจากความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยความยั่งยืนดังกล่าวคือ การให้น้ำหนักกับการทำงานเป็นทีม โดยยึดค่านิยมในการทำงานคือ “ทุกภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคน คือ งานของมหาวิทยาลัยที่จะส่งต่อให้กับสังคมและโลก ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทุกคนมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพียงแต่ต่างภาระงานที่ได้รับเท่านั้น” เราจำเป็นต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างวัฒนธรรมองค์การที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม เอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างสมดุลและยั่งยืน “Balanced + Culture Change” ร่วมทางเดินไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามปรัชญาของแอฟริกันที่ว่า “If you want to go fast, go alone. if you want to go far, go together.” (African proverb) การจะเปลี่ยนอะไรให้ยั่งยืนต้องเริ่มเปลี่ยนและสร้างวัฒนธรรมองค์การที่สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหลักสูตรการจัดการการเปลี่ยนแปลง (CU Change Management) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมสร้าง Sustainable GM ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับมหาวิทยาลัยต่อไป
IMAGE GALERY
https://unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/3944-cu-change-management-cugm2566#sigFreeIddb3aec8cca