
โครงการสังคมไทยไร้ความรุนแรง ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร. สุมนทิพย์ จิตสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการและคณะวิจัย ร่วมจัดนิทรรศการในวันนักประดิษฐ์ 2567 Thailand Inventors' Day 2024 เมื่อวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ” ณ Event Hall 100-102 : ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ซึ่งกิจกรรมที่ทางโครงการนำเสนอในงานครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.การเรียนรู้การลดความรุนแรง “บ้านปลอดภัย สังคมไทยไร้ความรุนแรง”
2.ประเมินความเสี่ยงการใช้ความรุนแรง “คุณมีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงมากเพียงใด” 3.เกมทดสอบความรู้เรื่อง “ความรุนแรงและการป้องกันแก้ไข” 4.กิจกรรมบอร์ดเกม (Board Game) “ความรุนแรงและแนวทางการแก้ไข” 5.กิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น “การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง” 6.แคมเปญ RESPECT และการป้องกันแก้ไขในเชิงพื้นที่ ณ เทศบาลตำบลเกาะคา จ.ลำปาง “RESPECT : เคารพตัวเรา เคารพความแตกต่างของผู้อื่น สู่การไม่ใช้ความรุนแรง” 7.นิทรรศการ “Safe Road Safety Life” และการเสวนาหัวข้อ “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” ร่วมกับ สภากาชาดไทย (The Thai Red Cross Society)ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมเพื่อร่วมขับเคลื่อนการนำแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best practice) ในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงไปสู่การปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น จากการดำเนินโครงการนับจากปีที่ 1 จนเข้าสู่การดำเนินการในปีที่ 3 ภายใต้แผนงานวิจัยท้าทายไทย เพื่อมุ่งแสวงหาแนวทางในการป้องกันและลดปัญหาความรุนแรงในประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายสูงสุดในการพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ให้ประชาชนมีความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน รวมทั้ง สวัสดิภาพสาธารณะในการดำรงชีวิต โดยใช้การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดความรุนแรงในสังคมไทย
นับจากการศึกษาแผนวิจัยท้าทายไทย: สังคมไทยไร้ความรุนแรง ปีที่ 1 ประกอบด้วยชุดโครงการย่อยที่ศึกษาความรุนแรงต่อตนเอง ความรุนแรงระหว่างบุคคล ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม และเครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรง เพื่อเป็นฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทยและการถอดบทเรียนแนวปฎิบัติที่ดีในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย
สู่แผนวิจัยท้าทายไทย: สังคมไทยไร้ความรุนแรง ปีที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างตัวชี้วัดความรุนแรงและจัดทำฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย เพื่อสร้างมาตรการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดความรุนแรงในสังคมไทย เพื่อสร้างเครื่องมือรวมทั้งการผลักดันให้มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย และเพื่อนำแนวทางปฏบัติที่ดีในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงไปปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการขับเคลื่อนลดความรุนแรง 5 มิติ คือ
♠️นโยบาย (Policy) ฐานข้อมูลความรุนแรงกับแผนที่ความรุนแรง เพื่อนำไปสู่นโยบายป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรง
♠️การป้องกัน (Prevention) การป้องกันการฆ่าตัวตาย ความรุนแรงของเด็กปฐมวัย เด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยง และการเคารพต่อความเท่าเทียมกันของสตรี (RESPECT) การร่วมสร้างเมืองปลอดอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ♠️การคุ้มครอง (Protection) การมีส่วนร่วมและการเฝ้าระวังของชุนต่อความรุนแรงในครอบครัว ♠️การดำเนินคดี (Prosecution) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อจัดการความขัดแย้ง เชิงสมานฉันท์ และโปรแกรมบำบัดผู้ใช้ความรุนแรง ♠️ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) เครือข่ายควบคุมอาวุธปืน สื่อสร้างสรรค์เพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทยและทุกโครงการร่วมมือกับหน่วยงานภาคปฏิบัติในการขับเคลื่อนลดความรุนแรงในสังคมไทยโดยแผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง (ปีที่ 2) ได้รับรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติระดับดี ประจำปีงบประมาณ 2567 นี้ด้วย
การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ ผ่านการจัดนิทรรศการและกิจกรรมงานวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ นับเป็นการสร้างความเข้าใจสู่สังคมโดยตรง ในการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่เกี่ยวข้องกับการลดการใช้ความรุนแรง ทั้งเรื่องของการลดความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาผ่านกิจกรรมการสร้างความเข้าใจความรุนแรงในตนเอง ความรุนแรงระหว่างบุคคล ความรุนแรงระหว่างกลุ่ม และเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรง แนวปฏิบัติในการลดความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัว ผ่านแคมเปญ “RESPECT” การสร้างความเคารพต่อความเท่าเทียมกันของสตรี เพิ่มโอกาสให้โครงการร่วมสร้างความตระหนักและความร่วมมือต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยให้กับสังคมไทยผ่านเยาวชนและประชาชนที่ได้มาร่วมงานและกิจกรรมในช่วงเวลาตลอดระยะของการจัดงานในปีนี้ ซึ่งผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมโครงการในครั้งนี้ จะนำไปวิเคราะห์และขยายผลสู่การบูรณาการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงตามมาตรฐานสากลและบริบทของสังคมไทยต่อไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทางโครงการได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิติยา เพชรมุนี หัวหน้าภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้แทนเข้ารับประกาศนียบัตรจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งมอบให้เพื่อแสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่ร่วมนำผลงานจัดนิทรรศการในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานประดิษฐ์คิดค้นและเป็นกลไกสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการประดิษฐ์คิดค้น อันมีคุณค่าและประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
IMAGE GALERY
https://unisearch.chula.ac.th/index.php/th/news-activity-2/activities-news-2/4249-2567-2567#sigFreeIdd2805b9e05